กระดูกพรุน

โรคกระดูกพรุน เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

การที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลงหรือโปร่งบางมากขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานเป็นปี โดยไม่สามารถสังเกตเห็นได้ หรือไม่สามารถรู้สึกได้จนกว่าจะเกิดกระดูกหัก โดยปกติแล้วร่างกายมนุษย์จะมีการสร้างและทำลายกระดูกอยู่ตลอดเวลา และอยู่ในสมดุล พบได้บ่อยบริเวณกระดูกสันหลัง สะโพก หรือข้อมือ รวมทั้งยังสามารถเกิดได้กับกระดูกส่วนอื่นๆ ของร่างกายอีกด้วย

กระดูกพรุน เกิดจากอะไร ?

โรคกระดูกพรุนส่วนใหญ่ เกิดจากการสูญเสียฮอร์โมนเพศหญิงเนื่องจากหมดประจำเดือน โดยพบว่า 25% ของสตรีที่มีอายุมากกว่า 60 ปีจะเป็นโรคกระดูกพรุน รวมถึงสตรีที่หมดประจำเดือนเร็วหรือได้รับการผ่าตัดรังไข่ทิ้งก่อนอายุ 45 ปีก็จะมีความเสี่ยงของการเป็นโรคกระดูกพรุนได้มาก นอกจากนี้ยังพบว่าอายุก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นโรคกระดูกพรุนเช่นกัน โดยประมาณหลังอายุ 50 ปีไปแล้ว กระดูกจะบางลง 1-3% ทุกปี 

พันธุกรรมหรือ กรรมพันธุ์ คนเชื้อสายคอเคเชี่ยนและเอเชี่ยน (ผิวขาวและผิวเหลือง) มีอัตราเสี่ยงของกระดูกพรุนสูง และ จะเพิ่มขึ้น เมื่อมีประวัติกระดูกหักของผู้สูงอายุในครอบครัว หรือผู้ที่มีรูปร่างผอมบางอยู่แล้ว

การดำเนินชีวิต การขาดอาหาร น้ำหนักตัวน้อย หรือการรับประทานแคลเซียมในปริมาณต่ำ และภาวะการดูดซึมแคลเซียมไม่ดี ผู้ที่ชอบการดื่มสุรา และสูบบุหรี่  ผู้ที่อยู่เฉยๆนั่งๆนอนๆ หรือขาดการออกกำลังกาย

ยา และโรคประจำตัว ยาที่มีผลต่อกระดูกพรุนได้แก่ ยาที่มีสารสเตียรอยด์ ยาเกี่ยวกับโรคต่อมไธรอยด์ โรคเบาหวาน โรคไต เป็นต้น

ป้องกันได้ ด้วยการทานอาหารเหล่านี้ !

1.นม และผลิตภัณฑ์จากนม
ไม่ว่าจะเป็นนมจืด นมพร่องมันเนย นมข้น นมผง นมเปรี้ยว โยเกิร์ต ไอศกรีมที่มีนมเป็นส่วนผสม ชีส เนยแข็ง ช็อคโกเเลต รวมไปถึงน้ำเต้าหู้ และนมถั่วเหลือง

2.ธัญพืช
เช่น เมล็ดพืชต่างๆ (เมล็ดแตงโม เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน) อัลมอนด์ มะม่วงหิมพานต์ ข้าวโพด ข้าว ข้าวฟ่าง ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ งาดำ ลูกเดือย

3.ถั่วต่างๆ
เช่น วอลนัท ถั่วลิสง เกาลัด รวมถึง เต้าหู้ เนยถั่ว ลูกชุบ เต้าฮวย กระยาสารท และอาหารจากถั่วทั้งหมด

4.เนื้อสัตว์ที่ทานได้ทั้งกระดูก
เช่น กุ้งเเห้ง ปลากรอบ ปลาเล็กๆทอด ครีบปลา 

ออกกำลังกายช่วยเสริมสร้างกระดูก

ออกกำลังกายให้เหมาะสม เพื่อเป็นการเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก และยังมีความสำคัญต่อความแข็งแร่งของกล้ามเนื้อ รวมถึงความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้ออีกด้วย โดยให้ออกกำลังกายชนิดที่มีการลงน้ำหนัก เช่น การเต้นรำ การเดินเร็ว การวิ่งเหยาะๆ  ทั้งบนถนนหรือบนลู่วิ่งก็ได้  ทั้งนี้การฝึกการทรงตัวเพื่อป้องกันการหกล้มเป็นวิธีการที่ดี ที่จะลดอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการหักของกระดูกได้ เช่น การรำมวยจีนบางประเภท 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.nof.org , www.bumrungrad.com , www.thaiseniormarket.com , www.paolohospital.com